Translate

วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557

การจัดการความรู้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านนาซาน



การจัดการความรู้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านนาซาน

ชื่อเรื่อง การจัดการความรู้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านนาซาน
ชื่อสกุล ผู้ถอดบทเรียน นางบุญรัตน์    เชื้อประดิษฐ์
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอชาติตระการ  จังหวัดพิษณุโลก

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
                เป็นกองทุนชุมชนเป็นเจ้าของบริหารจัดการโดยชุมชน  ยึดหลักคุณธรรม 5 ประการ  คือ
ความซื่อสัตย์  ความเสียสละ  ความรับผิดชอบ  ความเห็นอกเห็นใจ  และความไว้วางไจ  ก่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชน
กระบวนงานในการขับเคลื่อนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
1. เสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการเงินทุนชุมชนให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้
                1.1 ส่งเสริมการออมและการลงทุนภายใต้การทำงานของกลุ่มออมทรัพย์ฯ
                1.2 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเงินทุนชุมชน
                1.3 ส่งเสริมและจัดตั้งสถาบันการเงินทุนชุมชน
                1.4 เสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายเงินทุนชุมชน
2. แสวงหาทุนชุมชนและพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการทุนชุมชน ดังนี้
                2.1 ค้นหาพัฒนาและจัดการข้อมูลทุนชุมชน
                2.2 พัฒนาผู้นำชุมชนในการบริหารจัดการทุนชุมชน
                2.3 ส่งเสริมการจัดการภูมิปัญญา วัฒนธรรม และทรัพยากรท้องถิ่น
                2.4 ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทุนชุมชน
3. ส่งเสริมการบูรณาการทุนชุมชนให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์กับพื้นที่ ดังนี้
                3.1 พัฒนาระบบฐานข้อมูลทุนชุมชน
                3.2 ส่งเสริมการบูรณาการทุนชุมชนในการจัดทำแผนชุมชน
                3.3 ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยใช้ทุนชุมชนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
                3.4 เชื่อมโยงเครือข่ายทุนชุมชน  เพื่อสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง       

ขั้นตอนการดำเนินการ การจัดการความรู้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านนาซาน
                     
                            กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นแหล่งเงินทุนที่ประชาชนในหมู่บ้านได้ใช้บริการมากที่สุด  เพราะคนในชุมชนส่วนมากเป็นสมาชิกกลุ่มและสมาชิกได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกลุ่ม  และเป็นกลุ่มที่หน่วยงานราชการให้การสนับสนุนช่วยดูแลเมื่อกลุ่มเกิดปัญหา  และช่วยแก้ไขปัญหาหรือหาทางออกให้
                           กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านนาซาน  หมู่ที่ 2  ตำบลบ้านดง  อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก  จัดตั้งขึ้นตามความต้องการของประชาชน  ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุน และปัจจัยในการผลิต เพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับฐานะของตนเอง ดังนั้น ได้มีแนวความคิดให้ประชาชนในชุมชน ได้รู้จักการประหยัด  สะสมเก็บออมทรัพย์  เพื่อให้มีเงินทุนสนับสนุนในการประกอบอาชีพ ช่วยเหลือตัวเอง และครอบครัว ประกอบกับได้ปฏิบัติตามนโยบายของทางราชการ   โดยกรมการพัฒนาชุมชน  ได้สนับสนุนให้ประชาชนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต   โดยการรวมกลุ่มคนให้สะสมทรัพย์คนละเล็กคนละน้อยเพื่อช่วยเหลือสมาชิกด้วยกันเอง  
หลักการบริหารและการจัดการ
                หลักการบริหารและการจัดการของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านนาซาน มีดังนี้
1)            การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ    โดยการปลูกฝังให้สมาชิกทุกคนมีจิตสำนึก  และความรับผิดชอบ เอาใจใส่ โดยการเลือกตัวแทนที่มีความสามารถ และคนดี   มีคุณภาพ  มาบริหารกิจกรรมของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
2)            หลักการพึ่งตนเอง  โดยส่งเสริมให้สมาชิก มีการประหยัด และอดออม
3)            หลักคุณธรรม  โดยปลูกฝังให้สมาชิกมีคุณลักษณะ  ดังนี้
-  ความซื่อสัตย์
-  ความเสียสละ
-  ความรับผิดชอบ
-  ความเห็นอกเห็นใจ
-  ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน                                
4)            หลักการมีส่วนร่วมของสมาชิก  โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมคิด  ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมบำรุงรักษา ร่วมแรง วัสดุและเงินทุน
5)            หลักประชาธิปไตย    โดยเน้นให้สมาชิกเคารพในสิทธิของตนเอง   และผู้อื่นให้สมาชิกทุกคนถือว่า  กลุ่มเป็นของชุมชน
แนวทาง แก้ไขปัญหาและพัฒนากลุ่ม 
                           เมื่อคณะกรรมการและสมาชิก  ได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงปัญหา  และความต้องการของกลุ่มแล้ว  จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนดำเนินการ  เพื่อพัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็ง  บริหารจัดการกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ   นำมาซึ่งความยั่งยืนของกลุ่ม  โดยได้กำหนดแผน  ดังนี้
แผนการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
1. ให้สมาชิกกู้เงินไปประกอบอาชีพในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีรายได้เพิ่มขึ้น
2. ให้คณะกรรมการและสมาชิกมีความรู้เพิ่มมากขึ้น
3. การระดมเงินทุนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ให้มีมากขึ้น
4. ให้มีการรวมกลุ่ม
5. ให้สมาชิกได้นำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันโดยให้ครัวเรือนจัดทำบัญชีรับ จ่าย  ในครัวเรือน เพื่อนำมาซึ่งการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้                                       
กิจกรรมของสมาชิกตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง 
                               มีการจัดทำบัญชีรับ จ่ายครัวเรือน  รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่าย  มีความเป็นอยู่ที่ เหมาะสมกับรายได้  ไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป  และเก็บออมส่วนที่เหลือไว้  การปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้เช่น    กระเพรา  โหระพา  และเลี้ยงปลา     การออม ครัวเรือนมีการเก็บออมโดยฝากเงินไว้กับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านนาซาน   โดยกลุ่มมีวัตถุประสงค์หลัก  เพื่อส่งเสริมและสร้างการอดออม  เสียสละ    เอื้ออาทร   และการช่วยเหลือกันเองในหมู่บ้าน   เพื่อให้สมาชิกรู้จักการประหยัดเก็บออม   การสืบสานประเพณีและถ่ายทอดให้กับลูกหลาน  จัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงาม  ในช่วงวันสงกรานต์จะมีการรดน้ำดำหัวขอพรกับผู้สูงอายุในหมู่บ้าน  การแข่งขันกีฬาประจำหมู่บ้านในแต่ละปี  จัดกิจกรรมปลูกป่าเนื่องในวันสำคัญต่าง ๆ   ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย  โดยส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเลือกตั้งคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  และการเลือกตั้งของท้องถิ่น ไปจนถึงการเลือกตั้งระดับประเทศ 
ให้มีการประเมินผลการดำเนินงาน
              เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนร่วมประเมินผล  และติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง  และเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหาร และการประชุมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตทุกครั้ง  เพื่อให้ข้อเสนอแนะ   และร่วมแก้ไขปัญหา  และอุปสรรคกับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต   ให้กรรมการและสมาชิก ดำเนินการวางแผน ในเรื่องการบริหารงาน ตามบทบาทหน้าที่  ตรวจสอบ  ติดตามควบคุม  กำกับดูแล  เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง  โดยให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการประเมินผลการบริหารจัดการของกลุ่ม                                                                                                                     
ผลสำเร็จของงานที่จะได้รับ
           1.  ทางกลุ่มฯ ได้มีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องให้สมาชิกและประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบ  จึงทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อกลุ่มและสนใจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มเพิ่มขึ้น 
           2. คณะกรรมการสามารถมีเงินให้กับสมาชิกกู้ยืมไปประกอบอาชีพอย่างเพียงพอ
           3. กลุ่ม มีแนวทางในการพัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการที่ดี   พัฒนากลุ่มให้ก้าวหน้าอย่างมีระบบและยั่งยืน

การนำไปใช้ประโยชน์
               1. คณะกรรมการกลุ่มรู้ถึงความต้องการของสมาชิกกลุ่ม  จึงสามารถบริหารจัดการให้ได้มาซึ่งความต้องการของสมาชิก                2. สมาชิกกลุ่มได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกลุ่มมากขึ้น
 
                                                                                                                                             
ปัญหา/อุปสรรค
          1. สมาชิกส่วนใหญ่ยึดติดกับคณะกรรมการชุดเดิมที่ดำรงตำแหน่งมาหลายสมัย  จึงขาดผู้นำที่ทำหน้าที่แทน  เมื่อคณะกรรมการชุดเก่าหมดวาระ  หรือต้องไปทำงานที่อื่น
           2. การทำงานเป็นกลุ่ม  ทำให้มีความไม่เข้าใจกัน  ความคิดเห็นไม่ตรงกัน   การแก้ปัญหา ซึ่งต้องทำการพูดคุยทำความเข้าใจ  เปิดใจให้กว้าง  ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น   
           3. คณะกรรมการยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง  และคณะกรรมการบางคนมีหน้าที่รับผิดชอบมากเกินไป
           4. สมาชิกส่วนมากไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น  จะปฏิบัติตามความคิดของผู้นำเพียงอย่างเดียว
ข้อเสนอแนะ
                ข้อเสนอแนะในการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น  การพัฒนาความรู้แก่สมาชิก  การบริหารงานของคณะกรรมการบริหาร  การบริหารจัดการเครือข่าย จัดให้มีการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน แก่คณะกรรมการและสมาชิกเพื่อสร้างความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม  สนับสนุนการจัดทำบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ให้ครบถ้วน  และเข้าใจง่าย  ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ มาร่วมในการดำเนินงานของกลุ่ม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ นำไปสู่การดำเนินงานที่ต่อเนื่อง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ควรมีการวิเคราะห์ สถานการณ์กลุ่ม   เพื่อนำข้อมูลมาวางแผน ในการแก้ไขปัญหา ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้  ประสบการณ์ระหว่างกลุ่ม   และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานและความก้าวหน้ากลุ่มให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปทราบ  อย่างต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เรียน สมาชิกและผู้เยี่ยมชมทุกท่าน ทางผู้เขียนบล็อกขอเรียนให้ทราบว่า เราได้เปิดให้ทุกท่านที่มีบัญชีของ Google เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ด้วยถ้อยคำที่สุภาพเชิงสร้างสรรค์ เพียงเท่านั้น