Translate

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

ขั้นตอนวิธีการ “การสนับสนุน ตรวจ ติดตาม นิเทศ และประสานงานอำเภอ ของนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก ประจำปี ๒๕๕๗"

ชื่อองค์ความรู้  :  ขั้นตอนวิธีการ “การสนับสนุน ตรวจ ติดตาม นิเทศ และประสานงานอำเภอ                          ของนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก ประจำปี ๒๕๕๗
เจ้าของความรู้  :  นางสาวนุชนารถ  ชื่นจุ้ย

ตําแหน่ง/สังกัด  :  นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ สํานักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก
แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ :  การเริ่มต้นการรับผิดชอบงานสนับสนุน ตรวจ ติดตาม นิเทศ และประสานงานอำเภอ                          ของนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด
เรื่องเล่า :   ในปี ๒๕๕๗ ผู้เขียนได้รับมอบหมายงานการบริหารโครงการกิจกรรมตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุม คือ เขียน (เฉพาะโครงการดำเนินการระดับจังหวัด) ตรวจสอบ ขออนุมัติ และแจ้งการอนุมัติโครงการ (ทุกโครงการทั้งระดับจังหวัด และอำเภอ)  และการติดตามการดำเนินงานตามโครงการ ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นปีแรกที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานดังกล่าว          และจากการศึกษาแนวทางการดำเนินงานการสนับสนุน ตรวจ ติดตาม นิเทศ และประสานงานอำเภอของนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก ในปีที่ผ่านมาประกอบกับที่พัฒนาการจังหวัด ,หัวหน้ากลุ่มงานได้ให้คำแนะนำในการดำเนินงาน และประสบการณ์การดำเนินงานในฐานะผู้รับผิดชอบงานตรวจติดตามฯ ณ ปัจจุบันเป็นเวลา ๖ เดือน (ไตรมาส ๒ ของปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗) ได้สรุปขั้นตอนการดำเนินงาน งานสนับสนุน ตรวจ ติดตาม นิเทศ และประสานงานอำเภอของนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด ดังนี้
 ๑. จัดทำคำสั่งแต่งตั้งนักวิชาการรับผิดชอบ สนับสนุน ตรวจ ติดตาม นิเทศ และประสานงานอำเภอ ซึ่งควรแบ่งเป็นคณะ/โซน หรือ ทีม (ใช้จำนวนอำเภอหารเฉลี่ยตามจำนวนนักวิชาการฯ) และแต่ละคณะ/โซน หรือ ทีม ควรประกอบไปด้วยหัวหน้ากลุ่มงานฯ นักวิชาการพัฒนาชุมชน จากทุกกลุ่มฝ่าย และควรมีบุคลากรของฝ่ายอำนวยการในแต่ละทีมด้วย เพื่อความคลอบคลุมในการสนับสนุน นิเทศ ตรวจ ติดตาม ประสานงานพัฒนาชุมชนของทุกกลุ่ม/ฝ่ายแก่อำเภอ และกำหนดนักวิชาการในแต่ละทีมรับผิดชอบอำเภอ ( ๑อำเภอ : ๑ นักวิชาการ)
 ๒. กำหนดให้มีการประชุมประจำเดือนของนักวิชาการฯ อาจจะเขียนเป็นโครงการโดยไม่ใช้งบประมาณก็ได้ เพื่อให้การประชุมดังกล่าวเป็นเวทีพบปะ แลกเปลี่ยน พูดคุยถึงงานพัฒนาชุมชนที่นักวิชาการแต่ละคนรับผิดชอบ       เป็นการถ่ายทอดงานให้นักวิชาการได้มีเวทีเรียนรู้งานร่วมกัน
 ๓. นักวิชาการจัดทำเครื่องมือติดตามงานที่ตนเองรับผิดชอบ เผยแพร่และอธิบายขั้นตอน วิธีการ ข้อสังเกต ในงานให้กับนักวิชาการท่านอื่นๆ โดยใช้เวทีการประชุมประจำเดือนของนักวิชาการฯ
 ๔. กำหนดให้อำเภอจัดทำแผนปฏิบัติงานประจำเดือนส่งจังหวัด เพื่อให้นักวิชาการผู้รับผิดชอบสนับสนุน ตรวจ ติดตาม นิเทศ และประสานงานอำเภอ ได้จัดทำแผนออกตรวจ ติดตาม นิเทศงาน ฯ
 ๕. นักวิชาการรายงานผลการตรวจ ติดตาม เสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อส่งต่อข้อมูลให้กับผู้รับผิดชอบงานนำไปส่งเสริม สนับสนุน หรือหาแนวทางแก้ไข อีกทางหนึ่ง
  ซึ่งการดำเนินงานตามกระบวนการขั้นตอนดังกล่าว ต้องอาศัยการดำเนินงานที่เป็นทีมของนักวิชาการ ความรับผิดชอบในการสนับสนุนข้อมูล เครื่องมือ ในการติดตาม และความรับผิดชอบในการติดตามงานให้ได้ข้อมูลตามแนวทางที่กำหนด ซึ่งการดำเนินงานตามแนวทางข้างต้นเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร (นักวิชาการฯ) อีกทางหนึ่งด้วย เพราะจะทำให้นักวิชาการได้เรียนรู้งานด้านอื่นๆ นอกจากงานที่ตนเองรับผิดชอบ แต่จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การให้ความสำคัญในงานติดตามงานของผู้บังคับบัญชา,  การบริหารจัดการเวลาในการทำงานในหน้าที่รับผิดชอบของนักวิชาการฯ กับการถ่ายทอดความรู้ จัดทำเครื่องมือให้กับนักวิชาการท่านอื่นๆ และความสามารถในการเรียนรู้งานที่นอกเหนือจากงานที่รับผิดชอบ เพราะบทบาทนักวิชาการไม่ใช่เพียงแค่รู้ถึงวิธีการ หรือขั้นตอนในการทำงานนั้นๆเท่านั้น แต่ต้องสามารถอธิบายถึงความจำเป็น สาเหตุ ยกตัวอย่าง แนะนำ การทำงานนั้นๆได้ด้วย ซึ่งเป็นความท้าทายของนักวิชาการการในการสนับสนุน ตรวจ ติดตาม นิเทศ และประสานงานอำเภอ ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น
**********************************

          นุชนารถ ชื่นจุ้ย
         นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ

1 ความคิดเห็น:

เรียน สมาชิกและผู้เยี่ยมชมทุกท่าน ทางผู้เขียนบล็อกขอเรียนให้ทราบว่า เราได้เปิดให้ทุกท่านที่มีบัญชีของ Google เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ด้วยถ้อยคำที่สุภาพเชิงสร้างสรรค์ เพียงเท่านั้น