Translate

วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

องค์ความรู้กระบวนการขับเคลื่อนโครงการแม่บ้านสามห่วง : สพจ.พิษณุโลก



1.การสร้างความรู้ความเข้าใจ
               1.1 ต้องสร้างความเข้าใจแก่แกนนำให้ชัดเจน ว่าทำแล้วชุมชนได้อะไร  ประชาชนได้อะไร  ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ( ตีเหล็กตอนร้อน ๆ ) ต้องทำหลาย ๆ ครั้งติด ๆ กัน (ที่บางกระทุ่ม ประชุม 4 ครั้งใน เดือนเริ่มดำเนินการ )  มีการพัฒนาแก้ไขปัญหาข้อสงสัยกันอยู่ทุกครั้ง ปรับเปลี่ยนปรับปรุง
               1.2 การถ่ายทอดแนวคิดการดำเนินงานโครงการฯ ต้องทำผู้รับข่าวสารเข้าใจ ชัดเจน ไม่มีข้อสงสัย และสามารถนำไปถ่ายทอดให้แก่คนในชุมชนได้ชัดเจน  โดยการใช้ภาษาง่าย ไ เช่น ธนาคารความดี นำความดีไปฝากและแลกเป็นสิ่งของ  ชาวบ้านอาจไม่เข้าใจ เปลี่ยนเป็น “ ความดีเปรียบกับแสตมป์ เซเว่นฯ นำไปแลกของ ” ทำให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น 
                
2.กระบวนการขับเคลื่อน
               2.1 การรับสมัครสมาชิก เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ โดยปกติคนทั่วไปฟังเรื่องราวจากที่ประชุมฯ มีบางส่วนเข้าใจ และมีหลาย ๆ ส่วนไม่เข้าใจ ดังนั้นเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสร่วมกิจกรรม  ตัวช่วยที่ดีคือ การมอบภารกิจแก่คณะกรรมการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน ( กพสม.) โดยการกำหนดเป้าหมายการประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน จากนั้นใช้วิธี   “ เคาะประตูบ้าน ”หรือ “มุดรั้ว เคาะประตู มุดใต้ถุน” ไปทำความเข้าใจรายครัวเรือน โดยมีเอกสารแนวทางการดำเนินโครงการแก่สตรี ไปประกอบการชี้แจง ทำให้มีคนเข้าใจและสมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมมากยิ่งขึ้น
               2.2 กำหนดค่าความดี และสิ่งของที่จะได้รับในวันประชุมครั้งแรก เพื่อสร้างแรงจูงใจในการร่วมกิจกรรม
               2.3 การประชาสัมพันธ์โครงการฯ นอกจากในหมู่บ้านแล้ว ในระดับตำบล อำเภอ มีส่วนช่วยให้การขับเคลื่อนโครงการฯ บรรลุตามเป้าหมายได้ชัดเจน เช่น ในระดับอำเภอภาคีการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ธนาคาร  ออมสิน ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สนับสนุนกระปุ๊กออมสินเพื่อมอบแก่ผู้ร่วมเป็นโครงการ ฯ เกิดบรรยากาศที่ดีในพิธีเปิด “ธนาคารความดี”
               2.4 การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างแกนนำหมู่บ้าน กับคณะกรรมการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน ต่อหน้าประชาชนทั้งหมู่บ้านในที่ประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน เพื่อเป็นสักขีพยาน  ส่งผลให้ทั้ง 2 ฝ่ายให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานฯมากขึ้น
               2.5 ระดับตำบลสามารถทำได้โดยการทำบันทึกข้อตกลง โดยทำรายชื่อแกนนำระดับตำบล ทั้งท้องที่ องค์กรสตรี  เป็นป้ายไวนิลแผ่นใหญ่ และให้ผู้สมัครใจร่วมโครงการฯ ลงนามในป้ายไวนิลนั้น ๆ และนำไปติดไว้ในที่ประชุมแต่ละครั้ง  เป็นการประชาสัมพันธ์ว่า ใครบ้างสมัครใจและให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการ ฯ
               2.6 การประสานภาคี โดยเฉพาะพระสงฆ์/เจ้าอาวาสวัด  หลังจากได้นำเสนอแนวคิดการขับเคลื่อนโครงการให้ท่านฯ ได้รับทราบ  จะได้รับการสนับสนุนสิ่งของเพื่อเป็นของแลกความดีของคนในชุมชน เป็นอีกหนึ่งทางเลือก
               2.7 การนำเรื่องราวการขับเคลื่อนโครงการแม่บ้านสามห่วง มาร้อยเรียงเป็นเพลง นำไปเผยแพร่ในหมู่บ้านโดยเปิดตามหอกระจายข่าว เป็นการประชาสัมพันธ์โครงการฯ อีกทางหนึ่งได้เป็นอย่างดี
               2.8 การขับเคลื่อนโครงการแม่บ้านสามห่วง ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน จากประสบการณ์พบว่า การขับเคลื่อนกิจกรรมห่วงใยชุมชน “ ธนาคารความดี” เป็นเรื่องแรกเมื่อเคลื่อนได้แล้ว กิจกรรมที่เหลือจะง่ายขึ้น เนื่องจากคนในชุมชนเข้าใจ เห็นประโยชน์ชัดเจน พร้อมให้ความร่วมมือมากขึ้น

3.ห่วงหาอาธร
               การชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง ในภาพรวมของหมู่บ้านให้เห็นประโยชน์ที่คนในชุมชนจะได้รับ การช่วยแบ่งเบาภาระของผู้สูญเสีย แล้ว เนื่องจากเป็นกิจกรรมใหม่ ดังนั้นเมื่อมีงานศพเกิดขึ้น
               3.1 สตรี/แกนนำหมู่บ้าน ต้องพยายามพูดคุยกับเจ้าภาพ เชิญชวนให้ลดค่าใช้จ่ายค่าเหล้า  สุดท้ายได้แนวคิด การลดค่าเหล้าสำหรับแขก แต่สำหรับคนช่วยงานก็ยังคงต้องทำอยู่ 
               3.2 แกนนำชุมชน/ กพสม. ร่วมชี้แจงในงานศพให้ผู้ร่วมงานศพเข้าใจ ว่าเจ้าภาพงานนี้ร่วมโครงการ “ งานศพปลอดเหล้า” พร้อมมอบป้ายงานศพปลอดเหล้า จะช่วยทำให้ผู้ร่วมงานเข้าใจเจ้าภาพมากขึ้น และพร้อมให้ความร่วมมือ
                3.3 การติดป้ายประชาสัมพันธ์ รณรงค์ “งานศพปลอดเหล้า” ในระดับหมู่บ้านจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้คนในชุมชนเริ่มเคยชิน และพร้อมให้ความร่วมมือมากขึ้น  รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ทาง        หอกระจายข่าว
               3.4 การนำผลการลดรายจ่ายจากค่าเหล้า นำไปแจ้งในที่ประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านเพื่อทราบ  ถึงภาพรวมของค่าใช้จ่ายที่ลดลง เป็นการช่วยเหลือเจ้าภาพงานศพ ทำบุญร่วมกันอีกทางหนึ่ง
4.ห่วงหาอาลัย
               4.1 การเดินรณรงค์ในช่วยเทศกาลต่าง ๆ  โดยการประสานกับองค์กรเครือข่ายงดเหล้าสนับสนุนป้ายไวนิล ประชาสัมพันธ์
               4.2 การตั้งจุดบริการประชาชนรณรงค์เมาไม่ขับ  ของหมู่บ้านเพื่อป้องปราม โดย กพสม.ร่วมกับ  แกนนำชุมชน
5.ห่วงใยชุมชน “ธนาคารความดี”
                   5.1 การให้รางวัลแก่คนทำดี “จากธนาคารความดี” เนื่องจากหมู่บ้านมีทุนน้อย ไม่มีเงินสาธารณะประโยชน์มาสนับสนุน  ทางออกที่สามารถทำได้ “ความดี คือความดี” ให้รางวัลคนทำความดีโดยมอบ ใบประกาศเกียรติคุณ แก่ผู้ทำความดีสม่ำเสมอ หรือ 10 คนแรก ที่มีค่าคะแนนสูงสุด ในงานบุญประจำปีของหมู่บ้าน
                   5.2 การสร้างแรงจูงใจในการทำความดี  โดยในการประชุมครั้งแรกหลังจากดำเนินโครงการฯ   ให้มีการแลกความดี เพื่อให้เห็นผลที่จะได้รับจากการทำความดี ส่งผลให้คนให้ความร่วมมือมากขึ้น ร่วมกิจกรรมทำความดีมากขึ้น
                   5.3 การกำหนดเมนูความดีที่ต้องสอดคล้องกับเกณฑ์การพัฒนาหมู่บ้าน/ความสุขมวลรวมชุมชน ที่ค่าคะแนนต่ำ แล้ว อีกประการหนึ่งคือ แนวคิด “อยากเห็นหมู่บ้านเป็นอย่างไร ให้กำหนดสิ่งนั้น เป็นเมนูความดี”
เพราะเมื่อชุมชนร่วมกันทำกิจกรรมตามเมนูแล้ว ภาพรวมของหมู่บ้าน เห็นผลความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน
                   5.4 การกำหนดเมนูความดี บางพื้นที่กำหนดเมนู ในเรื่องที่ทำง่าย ๆ ทำอยู่แล้ว โดยมีแนวคิดว่าช่วยกระตุ้นให้คนอยากทำความดีมากขึ้น  แต่บางพื้นที่ กำหนดเมนูไม่มากนัก เน้นเฉพาะเรื่องที่ทำยาก ๆ แล้วให้ค่าคะแนนมาก ๆ เนื่องจากมีแนวคิดที่ว่า เรื่องง่าย ๆ คนในชุมชนทำอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องมากำหนดเป็นเมนูความดี
ทั้ง 2 ประการนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ว่ามีมุมมองอย่างไร  สามารถดำเนินการได้ทั้ง 2 มุมมอง
หน่วยงานสังเคราะห์องค์ความรู้ : สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เรียน สมาชิกและผู้เยี่ยมชมทุกท่าน ทางผู้เขียนบล็อกขอเรียนให้ทราบว่า เราได้เปิดให้ทุกท่านที่มีบัญชีของ Google เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ด้วยถ้อยคำที่สุภาพเชิงสร้างสรรค์ เพียงเท่านั้น