Translate

วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

องค์ความรู้กระบวนการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง : สพจ.พิษณุโลก





1.การพัฒนาศักยภาพผู้นำ
               1.1 สร้างความสัมพันธ์โดยเฉพาะไม่เป็นทางการ เช่น
                   1)หลังการประชุม – อบรม  ต้องจัดแจงเวลาให้สามารถพูดคุย หารือเรื่องต่าง ๆ กับแกนนำต่อเพื่อสร้างความรู้สึกดี ๆ  สู่ศรัทธาของผู้นำ
                   2)กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ต้องพบผู้นำให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ในพื้นที่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ติดตามงาน ให้คำปรึกษา ต่าง ๆ
               1.2 ฝึกพูดที่สาธารณะ ผู้นำบางคนเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมใหม่ ๆ แต่มีความพร้อมในการร่วมกิจกรรมเพื่อส่วนรวม อาจไม่เคยพูดผ่านไมค์โครโฟน  พัฒนากรต้องฝึก โดยครั้งแรกให้ฝึกแนะนำตัวเอง ในที่ประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน จากนั้นค่อยๆ จัดสถานการณ์/โอกาสให้พูดในเรื่องที่เขาถนัด ทำอยู่แล้ว ฝึกบ่อย ๆ  และที่สำคัญต้องคอยติดชม ให้คำแนะนำเพื่อให้สามารถผ่านไปได้ดี
              
2.การสร้างความรู้ความเข้าใจ
      2.1 ประชุมสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในหมู่บ้านอย่างน้อยครัวเรือนละ 1 คน อธิบายถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นที่ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน  และการดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางกรมฯ การได้รับการพัฒนาและสนับสนุนงบประมาณการฝึกอบรมต่าง ๆ สุดท้ายการวัดความสุขที่เพิ่มขึ้น
       หลักการสำคัญในการทำความเข้าใจทั้ง 2 ครั้ง คือการสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าใจว่า      “ หากร่วมดำเนินกิจกรรมดังกล่าว  เขาจะได้อะไร  และ หากเขาไม่ร่วมโครงการ เขาจะต้องเสียอะไร              “สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่อ ๆ มาเป็นอย่างยิ่ง
               2.2 การสร้างแกนนำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการปรับทัศนคติ การเรียนรู้จากมืออาชีพในการถ่ายทอด ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสภาพแวดล้อมการเรียนรู้  โดยจังหวัดพิษณุโลก ส่งแกนนำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงไปอบรมเตรียมความพร้อมการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ของอาจารย์วิวัฒน์  ศัลยกำธร  เนื่องจากเป็นศูนย์ฝึกอบรมฯ ที่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติ สร้างความเข้าใจการดำเนินชีวิตดัวยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นอย่างดี ส่งผลให้การขับเคลื่อนงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่สนับสนุนต่อมาและการพัฒนาตนเอง เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
                2.3 การถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับจากการเรียนรู้ ในเวทีที่ประชุมประจำเดือน
         เมื่อแกนนำ กลับจาก“อบรมแกนนำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” ให้นำความรู้ที่ได้รับมาแลกเปลี่ยนให้กับคนในหมู่บ้าน โดยให้นำเสนอสิ่งที่ถูกใจมากที่สุด  กำหนดประเด็นให้ชัดเจนว่า เรื่องอะไร  อย่างไร   ส่งผลให้ประชาชนในหมู่บ้านเกิดความสนใจและพร้อมให้ความร่วมมือกับการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน  และเป็นการสร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้นำเสนอและฝึกการกล้าแสดงออกในที่ประชุมของแกนนำ ด้วย

3.การส่งเสริมครอบครัวพัฒนา
               3.1 การคัดเลือกครอบครัวพัฒนา    เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการก้าวสู่ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหมู่บ้าน นอกจากการคัดเลือกครอบครัวที่มีความพร้อม สมัครใจ มีกิจกรรมที่เป็นต้นแบบ ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม มีจิตอาสา  แล้ง ต้องทำความเข้าใจถึงภารกิจที่ต้องดำเนินการให้ชัดเจน โดยเฉพาะการศึกษาเพิ่มเติม การแบ่งปันความรู้ การขยายผลสู่ครอบครัวอื่น ๆ
               3.2 การให้ครอบครัวพัฒนา มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนที่ดำเนินการ ตั้งแต่คิด วางแผน ดำเนินการ นำเสนอผล  จะทำให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรม และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของกิจกรรมต่าง ๆ
               3.3 การค้นหา ขยายผลครอบครัวพัฒนาในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงให้เพิ่มขึ้นหรือครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำได้ทุกครอบครัว    วิธีการหนึ่ง คือการให้รางวัลตอบแทนแก่ครอบครัวพัฒนาต้นแบบในการค้นหา ชักชวนครัวเรือนอื่น ๆ มาร่วมเป็นครอบครัวพัฒนา  เช่นมอบหมาย 1 / 5-10 ครัวเรือน  ส่วนสิ่งของตอบแทน ประสาน/หารือกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตสนับสนุนทุนสาธารณะประโยชน์ จัดหาเป็นเมล็ดพันธุ์พืช สิ่งของจำเป็นเช่นน้ำยาเอนกประสงค์  ปุ๋ยน้ำชีวภาพ สารไล่แมลงเป็นต้น  วิธีนี้สามารถขยายผลครอบครัวพัฒนามากกว่าปีละ 30 ครอบครัว
               3.4 การกำหนดเป้าหมายในการขยายผลครอบครัวพัฒนา จะช่วยให้การส่งเสริมการดำเนินชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงเกิดการขยายผลสู่ครอบครัวอื่น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น  โดยกำหนดให้ชัดเจนว่า ครอบครัวพัฒนา 1 ครอบครัว มีเป้าหมายส่งเสริม สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัวอื่น ๆ จำนวนเท่าใด
               3.5 ยกย่อง เชิดชูเกียรติ แก่ครอบครัวพัฒนา เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง โดยการกำหนดให้ครอบครัวพัฒนา นำเสนอสิ่งที่ตนเองเข้าใจ และปฏิบัติ ให้คนในชุมชนฟังในเวทีประชุมประจำเดือน  เล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ สร้างความภูมิใจ และอยากที่จะทำสิ่งดี ๆ อย่างต่อเนื่อง 
                3.6 ค้นหาวิทยากรในชุมชน เพื่อแบ่งปันความรู้ ขยายผลการดำเนินวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงให้ มากขึ้น การสร้างผู้ถ่ายทอดให้มากขึ้นจะช่วยให้การพัฒนาเร็วขึ้น ดังนั้น การสร้าง ค้นหาจึงเป็นสิ่งจำเป็นอีกประการหนึ่ง  เมื่อค้นหาผู้รู้ได้แล้ว ต้องสร้างโอกาส โดยให้โอกาสในการถ่ายทอดความรู้ในเวทีประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน
         
4.กิจกรรมสาธิตการดำเนินชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง
           การวิเคราะห์ตนเอง โดยใช้ “โอ่งชีวิต” จะช่วยให้เห็นภาพของแต่ละครอบครัว ถึงสถานการณ์การดำเนินชีวิตของแต่ละครอบครัว  ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จะช่วยให้การกำหนดแผนพัฒนาตนเองชัดเจนมากยิ่งขึ้น แล้วนำรู้รั่วของแต่ละครอบครัวมาวิเคราะห์เป็นภาพรวมของหมู่บ้าน   จะได้สิ่งที่หมู่บ้านต้องพัฒนาร่วมกัน เป็นกิจกรรมสาธิต ฯ

5.การติดตามผลการดำเนินงาน
               5.1 แกนนำและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ต้องติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงแรก  ที่เข้าส่งเสริมกิจกรรมนี้  ต้องมีแผนการร่วมกิจกรรมชัดเจน  เพื่อคอยให้กำลังใจ เป็นที่ปรึกษา  จะสร้างความมั่นใจ ศรัทธาแก่ผู้นำ และประชาชนได้เป็นอย่างดี
               5.2 การนำเสนอผลความสำเร็จแต่ละกิจกรรม หรือผลงานของครอบครัวพัฒนา  “ฟ้องด้วยภาพ” โดยนำเสนอในเวทีประชุมประจำเดือน  จะช่วยให้ผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความภาคภูมิใจ ในสิ่งที่ได้ลงมือปฏิบัติ ส่งผลต่อความร่วมมือในครั้งต่อ ๆ ไป
6.การประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน
               6.1 นำเรื่องการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เข้าที่ประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านทุกเดือน  การชี้แจงผ่านหอกระจายข่าวทุกวัน  จะช่วยให้กระแสการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเกิดความตื่นตัว และให้ความร่วมมือมากยิ่งขึ้น


หน่วยงานสังเคราะห์องค์ความรู้ : สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เรียน สมาชิกและผู้เยี่ยมชมทุกท่าน ทางผู้เขียนบล็อกขอเรียนให้ทราบว่า เราได้เปิดให้ทุกท่านที่มีบัญชีของ Google เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ด้วยถ้อยคำที่สุภาพเชิงสร้างสรรค์ เพียงเท่านั้น